สรุปผลการประชุม FATF Plenary ระหว่างวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 2567
สรุปผลการประชุม FATF Plenary ระหว่างวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยกองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน สำนักงาน ปปง. ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยกองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน สำนักงาน ปปง.
ที่ประชุมเห็นชอบดังนี้
- ให้เผยแพร่คู่มือการดำเนินการตามความเสี่ยงเรื่องผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงและความโปร่งใสของนิติบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย (ข้อแนะนำที่ 25) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและป้องกันการใช้บริษัทหรือนิติบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย เช่น ทรัสต์ ในการปกปิดกิจกรรมผิดกฎหมายหรือซุกซ่อนเงิน คู่มือดังกล่าวเน้นการระบุการคอร์รัปชัน การลงโทษผู้ฝ่าฝืน ผู้ฟอกเงินและผู้กระทำผิดทางภาษีที่ซุกซ่อนทรัพย์สินผ่านบริษัทบังหน้าหรือรูปแบบที่ซับซ้อนอื่นๆ ทั้งนี้ FATF จะดำเนินการเผยแพร่คู่มือร่วมกับการฝึกอบรมต่อไป
- เห็นชอบให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไขข้อแนะนำที่ 16 และ Interpretive Note (INR 16) (wire transfers) เพื่อปรับมาตรฐานของ FATF ให้รับกับรูปแบบการโอนเงินข้ามประเทศและมาตรฐานการส่งข้อความของระบบการชำระเงินที่เปลี่ยนไป และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์กับระบบธุรกิจการเงิน เพื่อให้การโอนเงินข้ามประเทศ รวดเร็วขึ้น มีค่าใช้จ่ายน้อยลง มีความโปร่งใส และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมทั้งมีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ คงความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (technology-neutral) ตามเกณฑ์ “กิจกรรมเดียวกัน ความเสี่ยงเดียวกัน ใช้เกณฑ์เดียวกัน” รวมทั้งเสนอนิยามเพิ่มเติมของคำว่า payment chain
- เห็นชอบให้แก้ไขข้อแนะนำที่ 1 (การประเมินความเสี่ยงและดำเนินการตามความเสี่ยง) และทบทวนคู่มือ financial exclusion and de-risking
- เห็นชอบให้มีการปรับปรุงระเบียบวิธีประเมินการกำกับดูแล NPO เพื่อใช้ในการประเมินรอบถัดไป โดยเน้นการดำเนินการตามความเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้องค์กรไม่แสวงหากำไร (NPO) ถูกใช้ในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและในขณะเดียวกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินการขององค์กรไม่แสวงหากำไร
- FATF ระบุประเทศที่มีการดำเนินกิจกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล (VA) อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสนับสนุนประเทศเหล่านั้นในการปฏิบัติตามข้อแนะนำของ FATF เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 58 ประเทศ (38 ประเทศสมาชิกของ FATF และ 20 ประเทศอื่นที่ไม่ใช่สมาชิก FATF โดยในอาเซียนมี 6 ประเทศได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม) ที่ถูกระบุว่ามีการดำเนินกิจกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีปริมาณการซื้อขายมากกว่าร้อยละ 0.25 ของปริมาณการซื้อขายของโลก และมีผู้ใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่า 1 ล้านคน ที่ผ่านมาสำนักงาน ปปง. ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการให้ข้อมูล FATF เกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และแสดงให้เห็นถึงการกำกับดูแลที่มีประสิทธิผล ทั้งนี้ FATF เน้นย้ำว่าข้อมูลดังกล่าวไม่มีความชื่อมโยงกับการประเมินข้อแนะนำที่ 15 ในอนาคต
- FATF ออกแถลงการณ์ต่อสถานะของรัสเซีย โดยแสดงความห่วงกังวลต่อความเสี่ยงอันอาจเกิดขึ้นกับระบบการเงินโลก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและประเทศที่ถูกมาตรการคว่ำบาตรจาก FATF และความเสี่ยงต่อการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยังคงเฝ้าระมัดระวังความเสี่ยงของรัสเซียที่อาจเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูง และความเสี่ยงที่มีต่อระบบการเงินโลกต่อไป
7.ประเทศที่ FATF เรียกร้องให้ใช้มาตรการตอบโต้ (บัญชีดำ) และประเทศที่มีข้อบกพร่องด้าน AML/CFT และอยู่ในบัญชีประเทศเฝ้าติดตาม (บัญชีเทา)
7.1 บัญชีดำ: คงเดิมจำนวน 3 ประเทศ คือเกาหลีเหนือ อิหร่าน และเมียนมา โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น
(1) มาตรการตอบโต้ ได้แก่ เกาหลีเหนือ และอิหร่าน [คงเดิมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563] และ
(2) มาตรการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าอย่างเข้มข้นและได้สัดส่วนกับความเสี่ยง(Enhance Due Diligence proportionate to the risks arising from the jurisdiction) ได้แก่ เมียนมา ทั้งนี้ FATF เรียกร้องให้เมียนมาแก้ไขข้อบกพร่องด้าน AML/CFT อย่างเต็มที่รวมทั้งให้แสดงให้เห็นว่ามีการติดตามและการกำกับดูแลบริการเงินหรือการโอนมูลค่า (MVTS) ตามความเสี่ยงเพื่อลดภาระอันเกินควรจากการตรวจสอบเงินถูกกฎหมาย
7.2 บัญชีเทา: จำนวน 21 ประเทศ ได้แก่ Bulgaria, Burkina Faso, Cameroon, Democratic Republic of Congo, Croatia, Haiti, Jamaica, Kenya, Mali, Mozambique, Namibia, Nigeria, Philippines, Senegal, South Africa, South Sudan, Syria, Tanzania, Türkiye, Vietnam, Yemen
*ประเทศใหม่ในบัญชีเทา: จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ Kenya และ Namibia
**ประเทศที่ออกจากบัญชีเทาจำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ Barbados, Gibraltar, Uganda และ the United Arab Emirates
- ประธาน FATF คนใหม่ คือ Elisa de Anda Madrazo จากเม็กซิโก โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2567-2569 โดยจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ต่อจาก Mr. T. Raja Kumar ประธาน FATF คนปัจจุบันจากสิงคโปร์
หมายเหตุ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://www.fatf-gafi.org/en/publications/Fatfgeneral/outcomes-fatf-plenary-february-2024.html
This Post Has 0 Comments